วันที่ 8 ตุลาคม 2567 สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยายังได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเป็นวงกว้าง หลังจากล่าสุดมีการระบายลงท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 2,199 ลบ.ม./วินาที และจะระบายแบบเป็นขั้นบันไดถึง 2,400 ลบ.ม./วินาที
ประกอบกับมีมวลน้ำฝนที่ตกลงมาใต้เขื่อน ส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนที่อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย ถูกน้ำเอ่อล้นเข้าท่วม บ้านเรือนได้รับผลกระทบจำนวน 7 อำเภอ 97 ตำบล 578 หมู่บ้าน 23,497 ครัวเรือน
อำเภอเสนา รวม 11 ตำบล 84 หมู่บ้าน 4 ชุมชน 5,433 ครัวเรือน
อำเภอบางบาล รวม 16 ตำบล 102 หมู่บ้าน 4,666 ครัวเรือน
อำเภอผักไห่ รวม 15 ตำบล 85 หมู่บ้าน 3,879 ครัวเรือน
อำเภอบางไทร รวม 22 ตำบล 109 หมู่บ้าน 3,924 ครัวเรือน
อำเภอพระนครศรีอยุธยา รวม 20 ตำบล 66 หมู่บ้าน 16 ชุมชน 2,274 ครัวเรือน
อำเภอบางปะอิน รวม 11 ตำบล 78 หมู่บ้าน 3,211 ครัวเรือน
อำเภอบางปะหัน รวม 1 ตำบล 5 หมู่บ้าน 110 ครัวเรือน
วัด 14 แห่ง มัสยิด 2 แห่ง โรงเรียน 21 แห่ง (เป็นศูนย์เด็กเล็ก 2 แห่ง) สถานที่ราชการ 5 แห่ง ถนนภายในหมู่บ้าน 26 สาย
ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนไปอย่างมาก บ้านเรือนประชาชนจมน้ำเกือบทุกหลัง บางพื้นที่ลุ่มต่ำก็ท่วมถึงบ้านชั้นสอง ต้องหนีน้ำทำที่นอนนานกว่า 2 เดือน
ด้านนายวันชัย ปังพูนทรัพย์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นหนึ่งในพื้นที่ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วม มีทุ่งรับน้ำถึง 6 ทุ่ง คือ ทุ่งป่าโมก ทุ่งบางบาล ทุ่งผักไห่ ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งเจ้าเจ็ด และทุ่งบางกุ่ม
โดยทุ่งรับน้ำทั้ง 6 ทุ่งกินพื้นที่ครอบคลุม 12 อำเภอจากทั้งหมด 16 อำเภอของ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งขณะนี้มีการเปิดบานประตูระบายน้ำทั้งหมด ผันน้ำลงทุ่งแล้วทั้งหมด 4,000 ไร่ ปัจจุบันการระบายน้ำลงทุ่งเฉลี่ยวันละ 700 ลบ.ม./วินาที ซึ่งระดับน้ำในทุ่งจะสูงประมาณ 30-40 เซนติเมตร เพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์ความเดือดร้อนของชาวบ้าน