น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยเดือน ก.ค.2567 พบว่า เศรษฐกิจไทยเดือน ก.ค.2567 ปรับดีขึ้น หลังชะลอลงในเดือนมิถุนายน สาเหตุจากอุปสงค์ต่างประเทศฟื้นตัว การส่งออกสินค้าและรายรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและบริการที่เกี่ยวเนื่องขยายตัว แต่มีบางสินค้าที่ถูกกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและอุปสงค์ที่ยังต่ำ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวจากเดือนก่อน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและผู้บริโภคยังลดลง ส่วนหนึ่งจากความกังวลด้านเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำ สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและลงทุนของรัฐบาลกลาง ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวตามการเบิกจ่ายของโครงการด้านคมนาคม ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ในหมวดอาหารสดและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน โดยหมวดอาหารสดเพิ่มขึ้นจากผลของฐานต่ำในปีก่อน และจากราคาผลไม้ที่เพิ่มขึ้นตามผลผลิตที่ลดลง ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากหมวดอาหารสำเร็จรูป ด้านตลาดแรงงานโดยรวมปรับดีขึ้นจากการจ้างงานทั้งในภาคการผลิตและบริการ อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานต่อจำนวนผู้ประกันตนรวมที่ปรับเพิ่มขึ้น
ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กลุ่มที่เป็นลูกจ้างในภาคการผลิต การฟื้นตัวรายได้ของเขา ทยอยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ในช่วงหลังๆ ความเร็วของการฟื้นตัวแผ่วลงไปบ้าง ซึ่งยังเป็นเทรนด์ที่ขึ้นอยู่ แต่ว่าน้อยกว่าเดิม ในขณะที่รายได้ของเขาได้เพิ่มขึ้นไปจนถึงระดับก่อนโควิดแล้ว และเรายังไม่เห็นว่า มันปรับลดลง แต่เราจะติดตามต่อเนื่อง ส่วนคนที่เข้ามาขอรับสิทธิว่างเงินเพิ่มขึ้นนั้น คงต้องดูต่อไป แต่ยังไม่มีสัญญาณที่จะทำให้ตกใจขนาดนั้น” น.ส.ชญาวดี กล่าว
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจในระยะถัดไป ยังคงมีแรงจากภาคการท่องเที่ยวและบริการ ขณะที่การส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมน่ายังทยอยฟื้นตัวได้ แต่ต้องติดตามบางอุตสาหกรรมที่ยังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง และบางอุตสาหกรรมมีสินค้าคงคลังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้รายรับธุรกิจและรายได้ครัวเรือนในบางกลุ่มยังคงเปราะบาง
ทั้งนี้ ในระยะต่อไปมีปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1.ผลของการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการของภาครัฐ 2.การฟื้นตัวของการส่งออกและการผลิต และ 3.ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์
ย้อนกลับไปเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/67 โดยในด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของการอุปโภคบริโภคภาครัฐบาล การส่งออกสินค้าและบริการ และการขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยหลักมาจากการผลิตนอกภาคเกษตรที่ขยายตัวจากสาขาอุตสาหกรรม สาขาบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาขนส่ง สาขาการค้า ขณะที่การลงทุนรวม ลดลง 6.2% จากการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลง 6.8% และการลงทุนภาครัฐที่ลดลง 4.3% นอกจากนี้ ภาคการก่อสร้าง ยังปรับตัวลดลง 5.5% เป็นผลมาจากงบลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่หดตัว
ทั้งนี้ ในช่วงที่เหลือของปี รัฐบาลจะต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งมองว่าการเบิกจ่ายมีแนวโน้มดีขึ้นจากสัญญาผูกกันงบประมาณที่ผ่านมา และการเบิกจ่ายเม็ดเงินลงุทนของรัฐบาลที่ดีขึ้นตั้งแต่เริ่มครึ่งปีหลัง ซึ่งเติบโตมากกว่าเดิม ประกอบกับจะมีเม็ดเงินงบประมาณรายจ่าย ปี 68 ที่จะเริ่มออกมาในเดือนต.ค.67 ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/57 มีเม็ดเงินเบิกจ่ายลงทุนมากขึ้นด้วย