พระสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ของ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี นอกจากจะทรงเลือกใช้ผ้าไทยสำหรับตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์อยู่เสมอ เพื่ออนุรักษ์ผ้าไทยอย่างแน่วแน่ และทรงใส่พระทัยกับการเลือกฉลองพระบาทให้แมตช์กับฉลองพระองค์แล้ว อีกหนึ่งพระสไตล์ที่น่าประทับใจ คือทรงพิถีพิถันเลือกใช้ผ้าไทยที่สื่อความหมายงดงามตามโอกาสนั้นๆ อีกด้วย ซึ่ง แพรว ได้รวบรวมฉลองพระองค์ดังกล่าวที่สื่อความหมายแฝงนัยยะมาให้ทุกคนได้ชมกันตรงนี้
10 ฉลองพระองค์ผ้าไทยของ “สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา” สื่อความหมายแฝงนัยยะ
การปรากฏพระองค์ครั้งล่าสุด ในการเสด็จออกทรงเจิมเทียนรุ่ง เนื่องในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา พุทธศักราช 2564 สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงฉลองพระองค์ผ้าไหมมัดหมี่ลายดาวล้อมเดือน ซึ่งสื่อความหมายถึงวันพระจันทร์เต็มดวง
ครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นองค์ประธาน ในงานฉายสารคดีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว “His Majesty King Maha Vajiralongkorn Phra Vajiraklaochaoyuhua in Australia” ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียประจำประเทศไทย สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงฉลองพระองค์ผ้าไหมมัดหมี่ร่ายลายสำเภาหลงเกาะสีเขียว เกล็ดหมี่สีทอง โดยผ้าไหมมัดหมี่ สื่อความหมายถึงประเทศไทย ส่วนสีเขียวเข้มและสีเหลืองทอง อันเป็นสีประจำชาติของประเทศออสเตรเลีย ที่มาจากสีของดอกไม้ประจำชาติอย่างดอก Golden Wattle สื่อความหมายถึงประเทศออสเตรเลีย
ครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นองค์ประธานเปิดงานโครงการหลวง ประจำปี 2563 ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงฉลองพระองค์ผ้าไหมพื้นเรียบผ้าปักชาวกะเหรี่ยง ซึ่งชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ในโอกาสนี้จึงมีชาวกะเหรี่ยงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จด้วย
ครั้งทรงประกอบพิธีสังเวยพระป้ายเนื่องในเทศกาลตรุษจีน พุทธศักราช 2564 สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงฉลองพระองค์กี่เพ้าผ้าไหมไทยพื้นเรียบสีแดงเลือดนกพิราบ และตกแต่งลวดลายดอกไม้อ่อนหวานด้วยไหมดิ้นทอง ซึ่งตามความหมายของสีในวัฒนธรรมจีนนั้น สีแดงและสีทองสื่อถึงความหมายมงคล โดยสีแดง เป็นสีประจำชาติจีน และเป็นสีที่แทนธาตุไฟ หมายถึง แสงสว่าง ความอบอุ่น ความรุ่งโรจน์ ความสำเร็จ ความโชคดี ความสุข ความเจริญรุ่งเรือง และความซื่อสัตย์ ส่วนสีทอง เป็นสีประจำองค์จักรพรรดิจีนทุกยุคสมัย และเป็นสีที่แทนธาตุดิน หมายถึง ความเป็นปึกแผ่น ความมั่นคง ความมั่งคั่ง ความโชคดี ความสดชื่นรื่นเริง และความหวังที่ทุกคนปรารถนา
ครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ จังหวัดอุดรธานี สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงฉลองพระองค์ผ้าขิดไหม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของจังหวัดอุดรธานี
ครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นการส่วนพระองค์ ณ จังหวัดสกลนคร สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงฉลองพระองค์ผ้าฝ้ายย้อมคราม มัดหมี่ลายสะเก็ดธรรม ซึ่งเป็นผ้าประจำจังหวัดสกลนคร
ครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงฉลองพระองค์ชุดไทยเรือนต้นผ้าไหมพื้นเรียบสีเขียวต้นเกด และพระภูษาผ้าไหมมัดหมี่ลายช่อดอกเกด สองตะกอ สีเขียวเปลือกแตงโม โดยต้นเกด เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ จังหวัดพัทลุง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนภาคใต้ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงฉลองพระองค์ผ้าลูกไม้แบบชุดย่าหยา และพระภูษาผ้าปาเต๊ะ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวใต้
ครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ จังหวัดนครสวรรค์ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงฉลองพระองค์ชุดไทยเรือนต้นผ้าไหมพื้นเรียบ และพระภูษาปักจักรไหมน้อยลายดอกเสลา ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดนครสวรรค์
ครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ จังหวัดอุบลราชธานี สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงฉลองพระองค์ชุดไทยเรือนต้นผ้าไหมพื้นเรียบ และพระภูษาปักจักรวัสดุเส้นไหมลายดอกบัว ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดอุบลราชธานี